ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา หุ้นบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน)หรือ GL ได้สร้างปรากฏการณ์ชวนขนลุกต่อนักลงทุนชนิดที่เรียกว่าสนั่นวงการแบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
เพราะหลังจากประกาศงบการเงินประจำปี 59 ที่พ่วงกับข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีประเด็นเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับในการปล่อยกู้ที่ประเทศสิงค์โปรและไซปรัส
ราคาหุ้นก็เริ่มสั่นไหวปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อข่าวเรื่องข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเริ่มกระจายออกไปในหน้าสื่อต่างๆ อาการตื่นตระหนกเทขายหุ้นและการบังคับขายหุ้นจึงเกิดขึ้น
จากระดับราคาหุ้นที่สูงสุดเกือบ 70 บาท ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาดิ่งลง 4 ฟลอร์! จนทำราคาต่ำสุดที่ 12.40 บาท ก่อนรีบาวน์ขึ้นมายืนแถวๆ 19 บาท ซึ่งเมื่อคิดจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดราคาหุ้นลดลงไปถึง 82% สร้างบทเรียนในเชิงลบให้กับนักลงทุนจนอ่วมอรทัยกันถ้วนหน้า กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของตลาดหุ้นไทย เรียกได้ว่าขึ้นหิ้งเป็นตำนานกันได้เลยทีเดียว
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" จึงได้รวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ เพื่อนำเสนออีกมุมหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้น "เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น ?"
*** ต้องเจาะลึกหุ้นที่เติบโตเร็วผิดปกติ
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ GL ทำให้จากนี้ไปมุมมองต่อหุ้นที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งธุรกิจและราคาหุ้น ควรต้องเจาะลึกในรายละเอียด ซึ่งหุ้น GL ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีในการก้าวกระโดดทั้งกำไรและราคาหุ้น โดยจากสิ้นปี 57 ที่มีกำไรเพียง 114.7 ล้านบาท พุ่งขึ้นไปเป็น 582.89 ล้านบาทในปี 58 และพุ่งไป 1,062 ล้านบาทในปี 59 โดยยังดำเนินธุรกิจเดิมคือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อ รถจักรยานยนต์ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ขณะที่ราคาหุ้นไต่ระดับจากเพียง 5.5 บาทเมื่อต้นปี 58 ทะยานขึ้นต่อเนื่องจนไปทำจุดสูงสุดที่ 69.75 บาท เมื่อปลายปีก่อน เพิ่มขึ้นกว่า 1,000% เรียกได้ว่าราคาหุ้นตอบรับผลประกอบการได้อย่างดีเยี่ยม
"หากไม่มีข้อสังเกตของรายงานของผู้สอบบัญชีเกิดขึ้น นักลงทุนก็จะยังคงชื่นมื่นกับกำไรที่เติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องของ GL ราคาหุ้นก็อาจจะไปได้ไกลกว่านั้น ซึ่งจากนี้ไปคงต้องเปลี่ยนมุมมองกันใหม่สำหรับหุ้นที่โตเร็วมากๆ ยิ่งกลุ่มที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจใดๆ ต้องเจาะลึกที่มาที่ไปของกำไรให้ชัดเจนแบบเคลียร์ 100% โดยเฉพาะรายที่มีธุรกรรมต่างประเทศจำนวนมาก แต่ไม่มีรายละเอียด ดูแค่ผลสรุปของกำไรอย่างเดียวไม่ได้"
เช่นเดียวกับอดีตผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ GL ที่บอกว่า "ยิ่งบริษัทที่มีงบการเงินที่มีความซับซ้อนมากๆ มีความเกี่ยวโยงข้ามไปข้ามมา ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเดี๋ยวนี้กลุ่มผู้บริหารมีความสามารถสูงในการใช้วิศวกรรมการเงินเพื่อหาช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับสร้างมูลค่าให้กับบริษัทตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับ GLการที่มีลูกหนี้ค้างชำระเกินกำหนดต้องมีการตั้งสำรอง แต่กลับมีการใช้ประเด็นความน่าเชื่อถือของผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันมายืดระยะเวลา ซึ่งนั่นเท่ากับคุณยังสามารถบันทึกรายได้ต่อไปได้ กำไรจึงเติบโตได้ขนาดนั้น
ในฐานะนักลงทุน VI ผมจะระวังมากกับการลงทุนในหุ้นที่มีธุรกรรมลักษณะแบบนี้ ซึ่งหากหาความชัดเจนไม่ได้จะขายทิ้งทันที เพราะมันผิดกับหลักการลงทุนที่ยึดถือทุกอย่างต้องเคลียร์ มิเช่นนั้นจะประเมินมูลค่าได้อย่างไร
ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช้เรื่องใหม่ มีให้เห็นกันมาก ถ้าเป็นนักลงทุนที่เจาะงบลึกๆ หรือศึกษาบริษัทให้ละเอียดก็จะเจอ เพียงแต่นักลงทุนส่วนใหญ่มักง่ายเกินไป ดูแค่กำไรโตก็โดดเข้าไปซื้อ พอมีเหตการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตกใจเทขายกันอย่างที่เห็น
ต้องชื่นชมมาตรฐานรายงานผู้สอบบัญชีแบบใหม่ ที่เพิ่มส่วนนี้เข้ามา ทำให้จากนี้สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่จะต้องได้รับการเปิดเผย"
*** รายงานผู้สอบบัญชีสิ่งสำคัญที่ต้องอ่าน
ถือว่าได้ผลชะงักเลยทีเดียว สำหรับรายงานผู้สอบบัญชีแบบใหม่ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ ม.ค.ปีนี้ เหมือนเป็นตัวแทนนักลงทุนสำหรับตรวจสอบและรายงานสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลของบริษัท
"ประสัณห์ เชื้อพานิช" นายกสภาวิชาชีพบัญชี ระบุว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นคือความสำคัญของการปรับปรุงมาตรฐานรายงานผู้สอบบัญชีแบบใหม่ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากที่นักลงทุนต้องอ่าน โดยเฉพาะวรรคใหม่ "เรื่องสำคัญในการตรวจสอบ" (Key Audit Matters หรือ KAM)
"นี่คือส่วนสำคัญในการปรับปรุงรายงานผู้สอบบัญชี เพราะสามารถนำข้อสังเกตใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับบริษัท ไปวิเคราะห์และทำความเข้าใจต่อธุรกิจที่ลงทุน มิใช่เป็นเพียงกระดาษที่มีไว้อ่านแค่ให้ทราบว่างบการเงินถูกต้องหรือไม่เหมือนที่ผ่านมา"
ขณะที่เมื่อถามต่อไปว่า สิ่งที่รายงานเหมือนเป็นดาบ 2 คมหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการฟันธงว่าธุรกรรมนั้นๆ ถูกหรือผิดอย่างไร ขณะเดียวกันทางบริษัทก็ได้ชี้แจงรายละเอียด ราวกับว่ากรณีนี้ไม่มีนัยใดๆ แต่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นเป็นอย่างมาก
"ประสัณห์" ตอบว่า รายงานผู้สอบบัญชีไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินความผิดหรือถูกในสิ่งที่รายงาน แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลข้อสังเกต ไม่มีหน้าที่พิสูจน์หรือทำให้ถูกต้อง
"กรณีนี้อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้สอบบัญชีคงรายงานตามข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งอาจจะไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและเห็นว่าเป็นธุรกรรมที่มีข้อสังเกตสำคัญ จึงรายงานออกมาอย่างที่เห็น"
ด้าน "รพี สุจริตกุล" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มองว่า กรณีนี้ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักลงทุน ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษารายงานผู้สอบบัญชี เป็นเรื่องที่ดี
"ไม่ใช่ดาบ 2 คมแน่นอน เพราะ KAM ถูกดึงออกมาใช้เพื่อประโยชน์แบบนี้ เป็นการปกป้องนักลงทุนด้วยซ้ำ การที่คน Panic ในเรื่องนี้ ก็จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ ต่อไปนักลงทุนก็จะให้ความสำคัญกับส่วนนี้มากขึ้น เป็นการจับตาเกาะติดบริษัทอีกช่องทางหนึ่ง
กรณีที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่หลังจากนี้ก็ไม่ใหม่อีกต่อไป เพราะนักลงทุนได้ตระหนักแล้ว คงไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนการนำเสนอของรายงานผู้สอบบัญชีแต่อย่างใด
"รพี" กล่าวต่อว่า ตอนนี้อย่าเพิ่งด่วนสรุปจากข้อมูลที่ชี้แจงจนคิดว่ากรณีนี้ไม่มีนัยอะไรและรายงานผู้สอบบัญชีเป็นส่วนสำคัญทำให้หุ้นตก ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีอะไรก็ได้ตอนนี้ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ โดยหากข้อมูลที่บริษัทชี้แจงไม่เป็นไปตามความจริง ก็ต้องรับผิดชอบตามกฎเกณฑ์”
*** หลีกเลี่ยงหุ้นที่ไม่มีความชัดเจน
นักวิเคราะห์อีกราย ระบุว่า ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับหุ้นที่มีประเด็นลักษณะนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางพื้นฐาน ซึ่งหากยังไม่มีความชัดเจนนักลงทุนต้องหลีกเลี่ยงเพราะไม่สามารถประเมินใดๆได้
"จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นแกว่งตัวอย่างมาก ทั้งซิลลิ่งและฟลอร์ในวันเดียวกัน แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฉีกทุกทฤษฎีในทางเทคนิคหรือพื้นฐาน เพราะนักลงทุนเข้าเก็งกำไรระยะสั้นกันอย่างชุลมุน ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ นักลงทุนต้องหลีกเลี่ยงจนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะความเสียหายจากราคาหุ้นนักลงทุนต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง"
เช่นเดียวกับ "เกศรา มัญชุศรี" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบทุกครั้งก่อนลงทุนเพราะทาง ตลท. ไม่สามารถช่วยเหลือนักลงทุนในด้านราคาหุ้นได้
แหล่งที่มา : www.efinancethai.com